จะปลูกอะไรดี ???

ปัญหาโลกแตกของคนมีทุน + รักการทำการเกษตร + มีฝัน
+ ไม่มีประสบการณ์ + ไม่มี (แหล่ง) ข้อมูล + (ตัวเอง) ไม่ชัดเจน
อยากจะปลูกอะไรสัก (หลาย) อย่างที่คุ้มค่ากับการลงทุน
ทุนไม่หาย กำไรนิดหน่อย ขาดทุนไม่ว่า แค่อยากทำ
มองย้อนกลับไปที่ภาพในจินตนาการเลยครับ
แล้วตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้แบบนั้นเป๊ะ
นั่นแหละครับคือคำตอบ ...

แต่แล้ว !!! ก็จะมีคำถามตามมาว่า แล้วมันจะคุ้มเหรอ ???
ถ้าใช้เกณฑ์คือความคุ้มค่า แนะนำให้ฝากธนาคาร สหกรณ์ออมทรัพย์
สลากออมสิน/ ธกส. พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตราสารหนี้อื่นๆ
ผมยืนยันว่าคุ้มครับ ทุนไม่หาย กำไรนิดหน่อย ไม่มีขาดทุน

คนทำเกษตรมีเหตุผลไม่กี่ข้อ เท่าที่นึกออก
เป็นกิจการของครอบครัว ต้องการทำเป็นอาชีพ ใจรัก
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดิน เห็นช่องทางธุรกิจแล้ว ฯลฯ
มีเหตุผลอื่นๆ มากกว่านี้ เติมคำลงในช่องว่างด้านล่างเลยนะครับ " ... "
แบ่งปันกันไปเป็นวิทยาทาน

เสี่ยงไหม ???
เสี่ยงครับ !!!
ปัจจัยแวดล้อมทุกอย่างเสี่ยง (Risk) ทั้งหมด
แล้วยังมีความไม่แน่นอน (Uncertainty) กอปรเข้าไปอีก

นอกจากฤดูกาล ดินฟ้าอากาศ รอบการระบาดของศัตรูพืช
ราคาผลผลิต กำลังซื้อของตลาด ก็ยังมีเงื่อนของเวลา
พืชทุกชนิดมีอายุการเจริญเติบโต
ผักก็เร็วหน่อย 1 - 4 เดือน
ข้าวหรือพืชไร่ก็หลายเดือน
ไม้ยืนต้นว่ากันเป็น (หลาย) ปีกว่าจะได้เก็บเกี่ยว
ถ้าใจร้อน แนะนำให้เพาะถั่วงอกครับ
ว่ากันเป็นวัน ... นานไปไหมครับ

พืชทุกชนิด ตั้งแต่เริ่มคิดจะปลูก ควักกระเป๋าตังค์จ่ายอย่างเดียวครับ
ค่าเช่า ค่าแรง วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบ กว่าจะได้ทุนคืน หรือเห็นกำไร
ถ้าเจอขาใหญ่รับน้อง รอบนั้นก็ทุนหาย กำไรหด เข็ดกันไป
เคยสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกผักหลายท่าน ทั้งชาวเขา ชาวเราพื้นราบ
ตอบตรงกันครับ ...

ปลูกผักปีละ 4 รุ่น ขาดทุนยับเละ 3 รุ่น ขอ 1 รุ่นราคาเจ๋งๆ
ต้นทุนที่หายไปได้คืนทั้งหมด กำไรหลังหักต้นทุนสำหรับปีต่อไป เหลืออีกบาน
ฟังพี่เขาเล่า อยากลาออกจากงานมันเดี๋ยวนั้นมาทำแบบพี่เขาบ้าง
ลมบนเขาพัดตึ้ง ดึงสติกลับมา เฮ่ยๆๆๆๆ ... มันไม่ใช่ทาง
แบบนี้ก็ไม่ไหวครับ  หัวใจจะวาย บางปีมากำไรรุ่นสุดท้าย
เครื่องมือที่ใช้หลักๆ คือความสม่ำเสมอ เขาไม่เลิกล้มครับ
ท้อได้ แต่ห้ามถอย ทำมันจนสำเร็จ ปีนี้ไม่ได้ ก็ว่ากันใหม่ปีหน้า

ถ้าจะถามว่าทำอย่างไรถึงจะได้รายได้ดีจากการทำการเกษตร
มีข้อแนะนำง่ายๆ แต่มีคนทำน้อย จนถึงไม่ทำกันเลย
ให้คิดต่างจากเกษตรกรท่านอื่นครับ ทำง่ายไหมครับ

ปลูกและเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกับคนอื่น เร็วกว่า ช้ากว่า ได้หมด
ไม้ผลทำนอกฤดู ผักปลูกให้เร็วขึ้น
นี่คือการใช้ประโยชน์จากจังหวะเวลา

หาตลาดรับซื้อล่วงหน้า มีที่ขาย ราคาชัดเจน
ทีนี้ก็มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต
นี่คือการประกันความเสี่ยง

ปลูกพืชแบบ intensive farming
ในจำนวนต้น ขนาดพื้นที่ที่สามารถจัดการด้วยทรัพยากรที่มี
เรากำลังพูดถึงประสิทธิผล การเพิ่มผลผลิตต่อไร่กันครับ

ปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวบนพื้นที่ขนาดใหญ่ในปริมาณที่มากพอ
นี่คือแนวคิด economy of scale การประหยัดโดยขนาด
เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพ

หรือจะทำไร่นาสวนผสม
เป็นการกระจายความเสี่ยง สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
สร้างจุดสมดุลของอุปสงค์และอุปทานให้กับผลผลิต

ปลูกพืชหมุนเวียนชนิดพืชให้ได้ทั้งปี
ทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชบำรุงดิน
เป็นการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า

ปลูกพืชเฉพาะฤดูที่ให้ราคาสูง
ใช้สถิติราคาตลาดในปีที่ผ่านมาเป็นตัวกำหนด
ใช้ต้นทุนและเทคโนโลยีในการผลิตสูง
เป็นการใช้ข้อมูลทางสถิติ ความรู้ในการจัดการที่เหมาะสม

รวมกลุ่มกันปลูก
จะพืชเดี่ยวหรือหลากชนิดได้หมด เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับตลาด
แบบนี้ยากหน่อย คนไทยไม่ชำนาญการทำงานเป็นหมู่คณะ

ทำเป็นรายได้เสริมในยามว่างจากการทำงาน
เป็นการเปลี่ยนเวลาว่างให้เกิดเป็นรายได้เพิ่ม
ลดความเครียดจากรายได้หลักที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

มีความคิดอะไรดีๆ นอกจากนี้ แบ่งปันกันได้นะครับ " ... "

ที่สำคัญ หมั่นทำการตลาดให้กับผลผลิตของท่าน
ในรูปของการให้ข้อมูล ความรู้ วิธีการปลูก วิธีการนำไปรับประทาน
ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกิจการ มาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการรับรอง

ไม่ได้หวังอะไรมาก แค่ต้องการให้ท่านที่สนใจทำการเกษตร
ทำด้วยใจรัก มีความสุขกับการเฝ้ามองพืชผลที่ปลูกกับมือเจริญเติบโต
โดยไม่พะวงกับเรื่องรายได้ที่จะได้รับมากจนเกินไป

เงินซื้อความสุขได้จริง แต่ความสุขตีมูลค่าเป็นเงินไม่ได้ครับ

Comments

Popular posts from this blog

Enjoy Your Work, Enjoy Your Life

6Qs สร้างสรรค์ผลงาน สร้างความเบิกบานให้ชีวิต

PDCA Circle