ประเทศไทยกับการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์

คนไทยกับงานวิจัยและพัฒนาทางการตลาด ย่างก้าวที่เข้มแข็งในตลาดแรงงานของภูมิภาคเอเชีย

ในทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเมล็ดพันธุ์ระดับโลกต่างกรีธาทัพมุ่งตรงมาที่เอเชีย ด้วยเห็นโอกาสและการเติบโตของประเทศในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ซึ่งรวมทั้งจีน อินเดีย และเหล่าประเทศสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC สิ่งแรกที่บริษัทเหล่านี้ทำคือหาข้อมูลโดยการสำรวจความต้องการของตลาด ลักษณะสายพันธุ์ที่ต้องการ ปริมาณการใช้ มูลค่าตลาด เพื่อที่จะสร้างสายพันธุ์ที่เหมาะสม สามารถตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด จึงต้องมีเจ้าหน้าที่เทคนิค ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมาทำหน้าที่เหล่านี้ ที่เราเรียกกันว่า เจ้าหน้าที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development Specialist) หรือเรียกสั้นๆ ในวงการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ว่า PDS หรือ PD (บางบริษัทเรียก PE หรือ Product Evaluator)

เป็นที่น่าสังเกตว่า PDS Asia ที่บริษัทเหล่านี้เลือกใชับริการมักจะเป็นคนไทย คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งนี้คือ มีประสบการณ์ทางด้านการขายหรือการตลาดเป็นอย่างดี มีทักษะทางด้านงานวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญคือต้อง "สื่อสารภาษาอังกฤษได้" เพราะต้องประเมินสายพันธุ์ร่วมกับนักปรับปรุงพันธุ์ วิเคราะห์ผลิตภาพร่วมกับนักผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดอาจจะเป็นชาวต่างชาติ ต้องเขียนรายงานการทดสอบ หรือเดินทางไปต่างประเทศเพื่อประเมินสายพันธุ์ในแปลงทดสอบที่ตั้งอยู่ในตลาดเป้าหมายรอบประเทศไทย หรือประชุมร่วมกับ PDS Global Team ที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคอื่นของโลก เหตุผลหลักๆ ที่บริษัทผู้นำในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่เลือกคนไทยมาทำหน้าที่นี้เป็นเพราะประเทศไทยมีเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศที่เปิดกว้างมากที่สุด พิธีการทางศุลกากรไม่ซับซ้อน สามารถนำเข้า - ส่งออกได้ทั่วโลก รวมทั้งนโยบายต้อนรับทุนต่างชาติในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

จึงเป็นการง่ายที่บริษัทผู้นำในธุรกิจเหล่านี้จะได้เข้ามาตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้กับ PDS คนไทย เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับ PDS ท้องถิ่นที่ประจำอยู่ในแต่ละประเทศ ปัจจุบันภารกิจการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ของ PDS Asia ชุดนี้ได้หมดลง เนื่องจากสายพันธุ์ทดสอบเหล่านี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสายพันธุ์การค้าจนหมดแล้ว ยังคงไว้เฉพาะ PDS ท้องถิ่นที่เป็นคนในประเทศนั้นๆ อดีต PDS Asia บางท่านก็ยังทำงานให้กับบริษัทที่เคยทำในตำแหน่งใหม่ บางท่านก็เปลี่ยนอาชีพ ส่วนอีกหลายๆ ท่านก็เปิดกิจการของตนเอง เราจะมีโอกาสได้เห็นบุคลากรสายเลือดใหม่ในอาชีพนี้อีกครั้งในทศวรรษหน้า เมื่อครบรอบวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ก็ได้แต่หวังว่าในวันนั้นเหล่า PDS Asia จะยังคงเป็นคนไทยเหมือนที่เคยเป็น

ด้วยกระแสความตื่นตัวในเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety) ทศวรรษจากนี้ไปจะเป็นยุคของงานพัฒนาผลิตภัณฑ์สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความปลอดภัย เจ้าของเทคโนโลยียังคงเป็นบริษัทต่างชาติที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก PDS รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ จะต้องทำงานคู่ขนานไปกับเงื่อนไข ข้อบังคับของหน่วยงานความปลอดภัยทางด้านอาหารและความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงต้องมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ได้แก่ GMP, HACCP, BRC, GLOBALGAP, CODEX Index, MRLs, GSPP, การจัดการศัตรูพืช และการประเมินสายพันธุ์พืช นอกเหนือจากความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านการขาย การตลาด งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพียงเท่านั้น รวมทั้งการจัดการการปลูกที่ลดการใช้สารเคมี โดยใช้เทคนิคการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพืช เพื่อให้พืชสามารถปกป้องตนเองจากศัตรูพืชที่เข้าทำลายและสร้างศักยภาพในการให้ผลผลิตได้ด้วยตนเอง PDS เหล่านี้จึงมีหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับเกษตรกรไทยและเกษตรกรทั่วภูมิภาคเอเชียนอกเหนือจากงานวิเคราะห์ประเมินตลาดและคัดเลือกผลิตภัณฑ์ใหม่อีกทางหนึ่งด้วย


Comments

Popular posts from this blog

Enjoy Your Work, Enjoy Your Life

การตลาดวิถีพุทธ

6Qs สร้างสรรค์ผลงาน สร้างความเบิกบานให้ชีวิต