Virus Wars
Virus Wars
สงครามไวรัสแห่งยุคสมัยภัยแล้ง
จำได้ว่าเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่ๆ ทั้งสอง อีกทั้งเพื่อนเลิฟหนึ่งเดียวและน้องๆ กองหน้าทะลวงฟันในสงครามไวรัสที่คร่าชีวิตพริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว มะละกอและอีกหลากชนิดพืชนับล้านต้นในหลายปีที่ผ่านมา คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่านับพันล้านบาท ตั้งแต่เรามีอาวุธแค่ประโยคบอกเล่าและข้อความ 3-4 บรรทัดบนกระดาษแผ่นเดียวที่บอกถึงสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ หลังจากนั้นปฏิบัติการไล่ล่าหาความจริงจาก Google อภิมหาเครื่องจักรค้นหาข้อมูลที่ทรงพลังที่สุดในโลกก็ได้เริ่มต้นขึ้น เอกสารภาษาไทยไม่มีแม้แต่จะให้ระแวงว่าจะมีบ้างสักนิดหรือไม่ เพราะไม่มี ที่เหลือเป็นเอกสารภาษาอังกฤษล้วน ที่สำคัญเป็น Journal รายงานการวิจัย บางฉบับก็เป็น Thesis อ่านยากชิ...หาย ฝรั่งนี่เขาขยันคิด ขยันค้น ขยันเขียนเนอะ สิทธบัตรของเขาถึงได้ออกมาเยอะไง คนไทยไม่เอาอย่างบ้างล่ะแบบนี้
ได้ข้อมูลมานับพันหน้า แปลและสรุปออกมาได้ 1 หน้ากระดาษ ไม่งั้นไม่มีใครอ่านถ้ายาวเกิน 8 บรรทัด บร๊ะเจ้า แล้วน้องๆ ก็รวมหัวกันไม่อ่าน "มีปัญหาปรึกษาพี่เอ้เมื่อไรก็ได้" น้องๆ รวมหัวกันว่างั้น เอ้า ว่างั้นก็ว่างั้น นับจากวันประกาศสงครามกับภัยแล้ง เอ๊ยไวรัส จากที่ไม่เคยพบปัญหาโรคไวรัสในตลาดเลย อยู่ๆ ก็แห่ประทุกันมาเกือบทุกพื้นที่การขาย ขายดีจนแพ็คไม่ทัน โตพรวดเดียว 3,000 เท่า นับจาก 0 ลิตรแรก หลังจากนั้นยอดขายก็โตพรวดพราดจนฉุดไม่อยู่ หมดเมื่อไร ร้านค้าสั่งเติมเมื่อนั้น ภาษาเซลเรียกว่าผูกหางหมาก็ได้ขาย
ความมั่นใจจนไร้สติขนาดนี้ของทั้งคนขาย คนซื้อไปขายและคนนำไปใช้งานจะมีไม่ได้เลยหากขาดงานทดสอบเพื่อยืนยันข้อมูลจากงานวิจัยที่ค้นคว้ามา เราทำกันในแปลงทดสอบสายพันธุ์มะเขือเทศที่มีขนาดเล็กที่สุด ลึกลับที่สุด ด้วยตัวอย่างขนาดบรรจุที่เล็กที่สุดที่หลงอยู่หลังรถเพียงขวดเดียวบนความหวังที่น้อยที่สุดคือไม่มีความหวังเลยด้วยจำนวนครั้งที่น้อยที่สุดคือเพียงครั้งเดียวกับนักวิจัยเพียงคนเดียวที่เชื่อใจกันจนถึงวันนี้โดยไม่ต้องพูดซ้ำ ผลลัพธ์ที่ได้กลับมีมูลค่ามหาศาลที่สุดคือได้เห็นประสิทธิภาพที่แท้จริงด้วยวิธีการใช้หรือ Application ที่เหมาะสมที่สุดคือการฉีดพ่นลงดินเพื่อให้รากดูดสารละลายขึ้นมาส่งกระจายไปทั่วทั้งลำต้น ในขณะที่การฉีดพ่นทางใบ สารจะถูกดูดซึมผ่านทางปากใบเข้าสู่ต้นพืชได้รวดเร็วกว่าการดูดซึมทางราก แต่ไม่ทั่วถึงทั้งลำต้นเท่ากับการดูดซึมทางราก อธิบายได้งงมะ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้งงจึงควรฉีดพ่นสารละลายทางใบและทางรากในการฉีดพ่นครั้งเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
ปัญหาการระบาดและเข้าทำลายของเชื้อไวรัสสามารถเกิดได้ทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะเขตร้อนเช่นประเทศในภูมิภาคเอเชียและในประเทศไทย เมื่อพาหะของเชื้อ ได้แก่กลุ่มแมลงปากดูด เพลี้ยไฟ ไรแดง แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อนที่ระบาดในพื้นที่ปลูกพืชของเรา ทั้งยังเป็นพืชอาศัยของพวกหล่อนในสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง (อุณหภูมิสูง ความชื้นต่ำ) การฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชในสภาพอากาศดังกล่าวเป็นสิ่งที่ควรทำ โดยยึดเทคนิคการฉีดพ่นสลับกลุ่มสารที่ตรวจสอบได้ใน IRAC Mode of Action Classification (www.irac-online.org) 2-3 กลุ่มอย่างต่อเนื่องในห้วงระยะเวลามากกว่า 45 วันตามวงจรชีวิตของแมลงศัตรูพืชเพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโต
ในฤดูอื่นๆ ที่มีสภาพอากาศแตกต่างจากสภาวะดังกล่าว แมลงศัตรูพืชเหล่านี้ก็ยังสามารถระบาดได้ เช่น ฤดูฝนที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องหลายวันติดต่อกัน หากมีภาวะฝนทิ้งช่วงเพียง 1-2 วันก็สามารถพบการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชและการแสดงอาการของโรคไวรัสได้เช่นกัน หรือแม้แต่ในฤดูหนาวที่มีสภาพอากาศเย็นและแห้งแล้ง สลับกับฝนตกประปราย ก็มีโอกาสพบการระบาดของแมลงพาหะและอาการของไวรัสได้
นอกเหนือจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสารยับยั้งการระบาดของโรคพืช ในวันที่ไม่มีฝนตกและความชื้นต่ำ เกษตรกรผู้ปลูกสามารถฉีดน้ำแบบพ่นฝอยในช่วงเช้าระหว่าง 6.00-10.00 น. เพื่อเพิ่มความชื้นในบรรยากาศ เป็นการขับไล่แมลงศัตรูพืชในช่วงการออกหากินของแมลงศัตรูพืชได้อีกทางหนึ่ง
ข้อมูลสารป้องกันกำจัดโรคไวรัส
http://www.paddymouse.com/2019/01/viracin-review.html
#Agropolitan #AggieBlogger
Comments