Genius Writer

สมุดบันทึกความทรงจำ

เป็นความตั้งใจตั้งแต่ตอนที่เรียนจบใหม่ๆ แล้วว่าจะเป็นคนช่างจดมากกว่าช่างจำ เพราะรู้ตัวว่าขี้ลืม คิดไม่เก่ง ไม่มีใครช่วยได้ เลยจำเป็นต้องขยัน แรกๆ ก็จดมันทุกอย่าง เพราะซ้อมเล็คเชอร์มาดีตั้งแต่ม. 4 จดมันทุกคำพูดที่ลูกค้าพูด เอาสมุดโน้ตเล่มเก่าๆ มานั่งอ่านยังขำไม่หาย จดไปได้ยังไงกัน (วะ) แต่ก็ทำให้ได้รู้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ามากขึ้น วันเดือนปีเกิด อาหารที่ชอบ ชื่อลูก ชื่อเล่นซ้อ และอื่นๆ จิปาถะ รวมทั้งข้อมูลการขายของลูกค้า เพราะจังหวะนั่งคุย สอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการเสนอขาย ทุกอย่างจะเกิดขึ้นเร็วมาก ข้อมูลใหม่ๆ จะพรั่งพรูออกมาอย่างต่อเนื่องจนคิดตามไม่ทัน จดไว้ก่อนเพื่อเอามานั่งอ่านทบทวนภายหลัง แล้วจึงกลับมาทำการบ้าน ประมวลผล วิเคราะห์ตลาด เขียนรายงานส่งเจ้านายเอาตัวรอดไปอีกเดือนได้

การบันทึกมีประโยชน์หลายๆ อย่าง ในแง่ของการทำงานที่เป็นนักขาย นักการตลาด ทำให้รู้จักลูกค้าในเชิงลึกมากขึ้น ทั้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร สินค้าที่ขาย ข้อมูลตลาด คู่แข่งขัน ช่องทางการขาย ถ้าเป็นเกษตรกรก็รู้พืชที่ปลูก พื้นที่ปลูก ฤดูกาล วิวัฒนาการของตลาด พฤติกรรมของร้านค้าและเกษตรกรที่ยังคงเดิมหรือเปลี่ยนไป ซึ่งจากการพูดคุยก็อาจจะไดัรายละเอียด วันเดือนปีเกิด อาหารที่ชอบ ชื่อลูก ชื่อเล่นภรรยา แถมมาอีกดัวย เจอกันในครั้งต่อไปก็ทบทวนความจำด้วยสิ่งที่จดมา ทำให้ลูกค้าประทับใจเราได้เหมือนกันที่ยังจำอะไรต่อมิอะไรของเค้าได้ หรือในแง่ของความสวยงามของชีวิต การบันทึกก็ทำให้เราได้เห็นวิวัฒนาการของตัวเอง ทั้งวิธีการคิด วิธีการบันทึก วิธีการตอบสนองต่อข้อสรุปของการวิเคราะห์จากการบันทึก ความรู้ในเชิงกว้างหรือเชิงลึกที่เปลี่ยนไป ประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น หลากหลายขึ้น กลุ่มคนที่เรารู้จักเพิ่มขึ้น

ทุกวันนี้ ก็มีรูปแบบวิธีการบันทึกที่สวยงาม น่าสนใจมากขึ้น อาทิเช่น Mind Map หรือแผนผังความคิด ทำให้ผู้บันทึกมีความสนุกสนานจากการบันทึกมากขึ้น ใช้ง่าย สร้างสีสันได้โดยใช้เครื่องมือ ได้ใช้ความคิดต่อเติมจากที่บันทึกในภายหลังได้ง่าย สามารถบันทึกได้ในหน้ากระดาษเดียว นำมาทบทวนในภายหลังก็เลยง่าย ไม่ซับซ้อน อีกรูปแบบหนึ่งคือ Cornell Note ก็สามารถนำเอามาใช้ได้ไม่ยาก พื้นที่บันทึกถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ตรงกลาง ใหญ่ที่สุด ใช้บันทึกเหตุการณ์ในปัจจุบัน อาจจะเป็นเล็คเชอร์ บันทึกการสนทนา หรือบันทึกการประชุม ส่วนที่ 2 คือ พื้นที่บันทึกคำหรือใจความสำคัญซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงความคิด ส่วนที่ 3 คือ พื้นที่บันทึกส่วนสรุปรวบยอดความคิด แนวคิดใหม่ๆ คำถามที่เกิดขึ้น

จดบันทึกกันเถอะครับ ปลดปล่อยความคิดที่ไร้ขีดจำกัดออกมา ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร ก็ให้เขียนสิ่งที่อยู่ในความคิดหรือสิ่งที่พบเจอตอนนั้นออกมา ไม่ต้องไปสนใจว่าจะเขียนได้มากหรือน้อย หรือใครจะอ่านบันทึกของเรา อย่างน้อยเราเองก็ได้อ่านและรับรู้ว่าเรากำลังคิดหรือเจอกับอะไรอยู่ในเวลานั้น โพรงความคิดของเราลึกและกว้างไกลกว่าที่เรารับรู้ครับ บันทึกแล้วลืมไปเลยก็ได้ ครั้งต่อไปก็บันทึกเพิ่มไปเรื่อยๆ เหมือนที่ผมทำมาตลอด 20 ปี สมุดบันทึกของผมยังอยู่ครบตั้งแต่เล่มแรก กลับบ้านทีไรก็ไปนั่งอ่าน แล้วก็ขำทุกทีกับวาทกวีเสล่อๆ ที่ผมเขียน ไม่น่าเชื่อว่าชีวิตคนเราจะเจออะไรได้มากขนาดนี้ ผมเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากการบันทึก เรียนรู้ที่จะอยู่และรู้ว่าชีวิตเป็นสิ่งที่สวยงามอย่างที่เค้าว่ากันจริงๆ


Comments

Popular posts from this blog

Enjoy Your Work, Enjoy Your Life

การตลาดวิถีพุทธ

6Qs สร้างสรรค์ผลงาน สร้างความเบิกบานให้ชีวิต