Just a Little Bit
เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักฟังผู้หลักผู้ใหญ่ บอกจนปากจะฉีก ก็ยังไม่ทำตามที่บอก แล้วนี่ยังมาทำประชด แห่ซื้อเหรียญมาถือครองจนถล่มสถิติโลกยับเยิน เฮ่อออ ... นี่เด็กสมัยนี้เป็นอะไรกันไปหมด (วะ) 😡
มาดูกันทีละเรื่อง ว่าทำไมประชากรวัยใสชาวไทยถึงแห่กันมาถือเหรียญล้นหลามไหลขนาดนี้ ...
(จากสถิติพบว่าประชากรในวัย 16-44 ปี หรือคน Gen Y ถึง Gen Z มีจำนวนผู้ที่ถือครองเหรียญคริปโตมากที่สุด แต่ที่น่าสนใจกว่าคือคน Gen X อายุระหว่าง 55-64 ปีถือครองเหรียญคริปโตคิดเป็นมูลค่าในระดับที่กำหนดทิศทางของตลาดได้เลย)
ด้วยสถานการณ์โรคระบาด การจ้างงานที่เคยคึกคักก็เงียบกริบ บัณฑิตจบใหม่ตกงานกันแทบจะยกแผง อย่าว่าแต่เด็กจบใหม่เลย คนวัยทำงานก็ตกงานคาบ้านระหว่าง WFH อีกนับล้านอัตรา
เด็ก Gen นี้ไม่อยากรอความสำเร็จเหมือนคนรุ่นพ่อแม่ เพราะพวกเขาเห็นมากับตาตั้งแต่เริ่มรู้ความว่ากว่าบุพการีจะเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานก็ล่วงเลยมาจนถึงวันที่พวกเขาจะต้องเข้ามหา'ลัยกันแล้ว
กฎระเบียบและเงื่อนไขหลายประการที่ฉุดรั้งการย้ายข้ามสถานภาพและการเติบโตของบุคลากรอายุน้อย ทำให้ประชากรอายุน้อยเหล่านี้ต้องมองหาทางเลือกอื่นเพื่อจะเติบโตและสร้างความมั่งคั่งด้วยตัวเอง
เด็กเหล่านี้เชื่อว่า 'เวลา' มีค่ามากกว่าทุกสิ่ง คำว่า 'ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว' จึงมีค่าและน่าฟังกว่าคำว่า'ก้าวหน้าอย่างมั่นคง' เพราะพวกเขาเห็นอยู่แล้วว่า 'ความมั่นคง' นั้นไม่มีอยู่จริง เมื่อพ่อแม่ของครอบครัวในย่อหน้าที่แล้วเพิ่งโดนเลิกจ้างไปแหม็บๆ
กิจการใหญ่ๆ ตกอยู่ในมือของผู้ประกอบการรุ่นเก๋าๆ กันหมดแล้ว ป่วยการที่จะไปแข่งขันกับคนที่มีพลกำลังมหาศาลที่จะดูดเงินในกระเป๋าของประชาชนได้ สู้หันมาสร้างตัวอย่างรวดเร็วด้วยวิธีอื่นดีกว่า เพราะยังมีอีกหลากวิธีที่ขนาดของกิจการไม่ใช่ความได้เปรียบ
คนรุ่นเก่ามักจะดักคอคนรุ่นหลังว่า High Risk, High Return "อยากได้ผลตอบแทนสูงๆ ก็ต้องมีความเสี่ยงสูงน๊า กล้าเหรอ" แต่เด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนมายึดหลัก High Educate, High Return เฉยเลย
เด็กเหล่านี้ไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ เกิดมาก็พบกับสภาพเศรษฐกิจที่แย่มาก โดยที่พวกเขาไม่ได้สร้างมันขึ้นมา ข้าวของแพงหูฉี่ จากการที่ผู้ใหญ่รวมหัวกันกำหนดราคาสินค้าแพงๆ แต่กดค่าแรงให้ถูก
ย้ำกันอีกรอบให้ชัดๆ ดูปากณิชานะคะ 'ต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไม่เคยขึ้น' เพราะรัฐบาลในอดีตกำหนดไว้แล้วว่าไม่มีการเก็บภาษีปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับเกษตรกร ซึ่งจะส่งผลมาถึงค่าครองชีพของผู้บริโภคด้วย
ตลาดทุนบนโลกนี้ล้วนมีเจ้ามือ เบื้องหลังของการเติบโตหรือถดถอย มีการกำหนดมาล่วงหน้าแล้วโดยเจ้าของเงินกองโตที่ทั้งโยนลงมาเผาและโยนลงมาทับแมงเม่าตัวเล็กๆ ที่บินวนรอบกองไฟด้วยความสะใจ
สินค้าโภคภัณฑ์ที่ผู้ใหญ่บอกว่าจับต้องได้ อย่างเช่น ทองคำ เงิน พันธบัตร น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ มันถูกมัดรวมจนราคาสูงเกินไปที่จะถือครอง กว่าจะได้ครอบครองก็ต้องออมเงินอีกนาน มันนานไป
คนรุ่นเก่าสั่งสอนให้ประชาชนออมเงิน เพื่อให้เม็ดเงินทั้งหมดเข้าไปอยู่ระบบธนาคาร หรือภาคการออมของประเทศที่อยู่ในรูปกองทุนเพื่อการเกษียณ เงินของเราเองแท้ๆ แต่แตะต้องไม่ได้ เพราะจะถูกตัดสิทธิ์บางอย่างออกไป จนเจ้าของเงินยังต้องรู้สึกผิด
เด็กๆ จึงไม่สนใจจะเข้ามาอยู่ในระบบของการจ้างงาน เพราะเขาเห็นอยู่แล้วว่า ลูกจ้างไม่สามารถควบคุมฐานะทางการเงินของตัวเองได้ แต่กลับมีคนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่คนที่เอาเงินของพวกเขามาสร้างฐานะ
การประกอบอาชีพอิสระจึงเป็นทางเลือกแรกๆ ของเด็ก Gen Z ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน บังเอิญนายจ้างก็ชอบแบบนี้ซะด้วย เพราะไม่ต้องจ่ายสวัสดิการในฐานะของนายจ้างให้กับลูกจ้าง วิน-วิน
คนรุ่นพ่อแม่ของเด็ก Gen Z ซึ่งก็คือคน Gen X, Gen Y ก็มีฐานะดีพอจะดูแลลูกหลานของพวกเขาในระหว่างที่กำลังทำงานสะสมเงินเพื่อนำมาลงทุนกันได้สบายๆ เด็กๆ ก็เลยไม่ต้องรีบร้อนหางานทำให้ลำบาก
คนไทยบ้าเกษียณ เพราะพวกเราเป็นชนชาติที่รักสบาย ยิ่งปู่ Robert T. Kiyosaki จากสำนักพ่อรวยสอนลูกมาสอนให้ชาวโลกรีบเกษียณ ยิ่งตรงใจชาวไทย เมื่อพวกเราต่างก็ฝันจะเกษียณเร็ว เกษียณรวยกันอยู่แล้ว
คำว่า 'เกษียณ' ของคนจึงแตกต่างกันนับแต่นั้น บางคนบอกว่า 'เกษียณ' คือต้องหยุดทำงานก็มีกิน บางคนบอกว่า'เกษียณ' มีกินแล้วก็หันไปทำงานที่รัก ไม่ว่าจะเป็นงานหลักหรืองานอดิเรก แต่ล้วนแล้วเป็นงานที่ยังทำเงิน
'สินทรัพย์ดิจิทัล' ในทัศนะของเด็กรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญคริปโตหรือ NFT มีคุณค่าโดยฉันทามติในกลุ่มของพวกเขา ไม่มีโภคภัณฑ์อะไรมารองรับแล้วยังไง ก็พวกเขารับรองกันเองก็พอแล้วหนิ
จากข้อกังวลว่ามูลค่าของเหรียญคริปโตยังมีความผันผวน เพราะความต้องการซื้อยังมีสูงจนไปกระตุ้นความต้องการขาย แปลกอะไร ก็นี่มันหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานทั่วไป มีคนอยากซื้อ แล้วให้ราคาสูง ก็ต้องขายจิ
ผู้ที่ถือเหรียญคริปโต ส่วนหนึ่งถือเพื่อการลงทุน ส่วนหนึ่งถือเพื่อการออม ลักษณะแบบนี้ก็จะยังมีต่อไปเรื่อยๆ ตามลักษณะของตลาดทุนทั่วไปของโลก แต่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลักษณะการถือครอง
Bitcoin จะมีจำนวน 21 ล้านบิทคอยน์ในอีก 120 ปีข้างหน้า ในวันนี้ถึงแม้จะยังมีขาใหญ่ถือเหรียญกันอยู่ แต่ถ้าวันหนี่งพวกเขาปล่อยเหรียญทั้งหมดออกมาสู่ตลาด แล้วแบ่งกันถือแค่คนละ 1 เหรียญ ก็จะมี 21 ล้านคนที่มีสกุลเงินเดียวกันแล้วค้าขายกันเอง จำนวนคู่ค้าแค่นี้ก็น่าจะพอแล้วมั้ง
ธุรกิจจะหมุนเวียนต่อยอดกันไปจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน คำนวณจากมูลค่าปัจจุบัน ขนาด GDP ของเหรียญคริปโตจะมีมูลค่า 26.67 ล้านล้านบาท เป็นอันดับที่ 18 ของโลก เหนือกว่าประเทศไทยที่อยู่ในอันดับที่ 25
ไม่ต้องมีมวลขนาดตลาด 21 ล้านหน่วยธุรกิจหรอก กลุ่มธุรกิจแบ่งออกเหลือกลุ่มหรือ Cluster ละ 5-10 หน่วยธุรกิจที่มีความสนใจเดียวกัน เกิดเป็น MEs (Micro Enterprises) หรือ 'วิสาหกิจรายย่อย' ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ก็เลี้ยงตัวและครอบครัวได้แล้ว
สถานภาพแบบนี้ดียิ่งกว่าเกษียณรวยอีกนะ เพราะเป็นเจ้าของกิจการ สร้างฐานะได้ตั้งแต่อายุยังน้อยร่วมกับคนที่มีความสนใจเดียวกัน หากมีหลากความสนใจ ก็ทำได้หลากกิจการกับหลากหลายบุคคลและกลุ่มธุรกิจ กิจการเดิมเดินต่อไป กิจการใหม่เกิดขึ้นมา มีทั้ง Active Income และ Passive Income ในเวลาเดียวกัน เกษียณได้นับครั้งไม่ถ้วนเลยหล่ะทีนี้
Comments